ไพล...บรรเทาอาการอักเสบ ฟกช้ำ ดำ เขียว
อัพเดทล่าสุด 9 months, 4 weeks ที่แล้ว
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เพราะเป็นคนซุ่มซาม...ก็ต้องเคยเจอกันบ้างแหละเนอะ ไม่ว่าจะ...ตกท่อ สะดุดพื้น สะดุดฟุตบาท ชนนั่น กระแทกนี่ ซึ่งก็เป็นเหตุให้เกิดอาการฟกช้ำ ดำ เขียว และอักเสบตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
เฮ้อ...เพราะทั้งชีวิต เราต้องดูแลตัวเองค่ะ และในเมื่อต้องดูแลตัวเอง ก็ต้องหาของที่อยู่ใกล้ตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ค่ะ และสมุนไพรใกล้ตัวที่สามารถใช้บรรเทาอาการอักเสบเล็กๆ น้อยๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้นได้ก็คือ “ไพล” นั่นเอง
ไพล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber montanum (Koenig) Link ex Dietr. ชื่อพ้องคือ Zingiber cassumunar Roxb. และ Zingiber purpureum Roscoe. เป็นพืชวงศ์เดียวกับขิงและข่า คือ ZINGIBERACEAE บางพื้นที่ก็เรียกไพลว่า ปูลอย, ปูเลย, มิ้นสะล่าง หรือ ว่านไฟ ไพลเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองแกมเขียว มีกลิ่นเฉพาะ แทงหน่อหรือลำต้นเทียม ขึ้นเป็นกอ ประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกันใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมใบหอก ดอกช่อ แทงจากเหง้าใต้ดิน กลีบดอกสีนวล ใบประดับสีม่วง ผลเป็นผลแห้ง รูปกลม ส่วนที่ใช้คือเหง้าและน้ำมันที่สกัดได้จากเหง้า สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า เหง้าไพลมีสรรพคุณแก้ฟกช้ำ ปวด บวม อักเสบ เคล็ดขัดยอก ช่วยขับลม แก้ท้องเดิน ช่วยขับระดู (1)
สารสำคัญที่พบในเหง้าไพล คือ น้ำมันหอมระเหย สารกลุ่มฟีนิลบิวทินอยด์ เช่น สาร (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl)butadiene (DMPBD) สาร (E)-4-(3,4-dimethylphenyl)but-3-en-1-ol (compound D) และสารกลุ่มเคอร์คูมินอยด์ เช่น cassumunarins และ cassumunins (2)
การนำไพลไปใช้เพื่อรักษาอาการบวม ฟกช้ำ และการอักเสบของกล้ามเนื้อสามารถเตรียมใช้เองที่บ้านได้หลายวิธี (2) เช่น นำไพลมาฝานเป็นชิ้นบางๆ ใช้ถูนวดบริเวณที่อักเสบ หรือเตรียมน้ำมันไพลด้วยการจี่หรือคั่วในกระทะ จนได้น้ำมันสีเหลือง แล้วนำมาทาถูนวดบริเวณที่มีอาการ นอกจากนี้ยังสามารถเตรียมน้ำมันไพลด้วยการทอดโดยมีสูตรและวิธีการทำง่ายๆ ดังนี้ค่ะ
สูตรตำรับน้ำมันไพล (3)
ส่วนประกอบ
- หัวไพลสด 2 กก.
- ขมิ้นชันสด 1/2 กก.
- น้ำมันปาล์มหรือน้ำมันมะพร้าว 1 กก.
- ดอกกานพลู 15 ก.
- เมนทอล 250 ก.
- พิมเสน 150 ก.
- การบูร 150 ก.
วิธีทำ
1. หั่นไพลสด และขมิ้นชันสด ให้เป็นชิ้นบางๆ
2. เทน้ำมันปาล์มลงกระทะตั้งไฟ พอน้ำมันร้อนจัด ลดไฟลงให้ไฟร้อนปานกลาง นำไพลและขมิ้นชันลงทอดในน้ำมัน ทอดจนไพลและขมิ้นชันกรอบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่แล้วน้ำมันเป็นสีเหลืองใส ต้องระวังอย่าให้สมุนไพรไหม้ จากนั้นช้อนเอาชิ้นไพลและขมิ้นชันออก ลดไฟให้เหลือไฟอ่อนๆ
3. ตำกานพลูให้ป่น นำลงทอดในน้ำมันต่อ ด้วยไฟอ่อนๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันที่อยู่ในกานพลูระเหยไป ทอดประมาณ 5 นาที แล้วดับไฟ
4. กรองน้ำมันที่ได้ด้วยผ้าขาวบาง
5. พอน้ำมันอุ่นๆ ผสมเมนทอล พิมเสน และการบูรลงในน้ำมัน คนให้ละลายเข้ากัน
6. บรรจุน้ำมันที่ได้ลงในภาชนะที่มีฝาปิดสนิทเพื่อป้องกันการระเหย หรือบรรจุในขวดที่มีฝาลูกกลิ้งเพื่อให้สะดวกต่อการใช้ต่อไป
นอกจากไพลแล้ว ในตำรับน้ำมันไพลยังประกอบด้วยสมุนไพรอีกสองชนิดคือ เหง้าขมิ้นชัน ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ ต้านการแพ้ ต้านเชื้อจุลชีพ และช่วยสมานแผล สารสำคัญได้แก่ น้ำมันหอมระเหย, สาร ag-turmerone, สาร curcumin และอนุพันธ์ของ curcumin เป็นต้น และ ดอกกานพูล ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ แก้แพ้ ต้านจุลชีพ และออกฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ สารสำคัญได้แก่ น้ำมันหอมระเหย และสาร eugenolเป็นต้น (4 - 5)
ข้อบ่งใช้ (6)
ทาและถูเบาๆ วันละ 2 - 3 ครั้งเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย ปวดบวม จากกล้ามเนื้ออักเสบ เคล็ดยอก ฟกช้ำ
ข้อควรระวัง (6)
- ห้ามทาบริเวณขอบตาและเนื้อเยื่ออ่อน
- ห้ามทาบริเวณผิวหนังที่มีบาดแผลหรือมีแผลเปิด
อาการไม่พึงประสงค์
- อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง
ข้อแนะนำ
น้ำมันไพลที่ได้มีสีเหลืองหากสัมผัสกับเสื้อผ้าจะซักออกได้ยาก และไม่สามารถซักออกด้วยผงซักฟอกปกติซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่างได้ ดังนั้นหากเสื้อผ้าเปื้อนน้ำมันไพลให้ซักด้วยน้ำยาซักผ้าเด็กซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน จะช่วยให้รอยเปื้อนนั้นจางลงหรือหายไป
นอกจากนี้ยังมียาทาที่มีเหง้าไพลเป็นองค์ประกอบหลักในรูปแบบของ “ครีมไพล” ที่มีน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าไพล 14% และ “ยาน้ำมันไพล” ที่มีสารสกัดน้ำมันไพลที่ได้จากการทอดไม่น้อยกว่า 90% ซึ่งเป็นรูปแบบที่ระบุในบัญชียาหลักแห่งชาติปี พ.ศ. 2559 (6) และสามารถหาซื้อได้จากโรงพยาบาลและร้านขายยาทั่วไป
ข้อมูลงานวิจัยทางคลินิก
การทดลองนำครีมไพล (ไพลจีซาล) ที่มีส่วนผสมของน้ำมันไพลร้อยละ 14 ไปใช้ในผู้ป่วยข้อเท้าแพลง โดยให้ทาวันละสองครั้ง พบว่าสามารถลดการปวดบวมได้มากกว่ากลุ่มควบคุมเมื่อใช้ไปได้ 4 วัน และมีการกินยาแก้ปวด (paracetamol) ในสองวันแรกน้อยกว่ากลุ่มควบคุมด้วย ผู้ป่วยที่ได้รับไพลจีซาลสามารถงอข้อเท้าได้มากกว่ากลุ่มควบคุม แต่ความสามารถงอส่วนฝ่าเท้าไม่แตกต่างกัน (7) การศึกษาประสิทธิภาพของครีมไพลที่ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าไพลขนาดร้อยละ 7 และ 14 และยาหลอกต่อการบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกาย โดยให้อาสาสมัครอายุ 18 - 60 ปี กลุ่มละ 25 คน ทาครีมขนาด 2 ก. ที่กล้ามเนื้อบริเวณต้นขาเป็นเวลา 5 นาที ก่อนออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อมีการยืดตัวขณะเกร็งสู้แรงต้านทาน (eccentric exercise) ทดสอบทุกๆ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 วัน พบว่ากลุ่มที่ได้รับครีมไพล 14% สามารถลดการระบมของกล้ามเนื้อ และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้ดีกว่าครีมไพล 7% และยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ (8)
เอกสารอ้างอิง
1. นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพร:ไม้พื้นบ้าน (3). กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชนจำกัด; 2542.
2. ฐานข้อมูลสมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ไพล [อินเทอร์เน็ต].[เข้าถึงเมื่อ 4 ก.ค. 60]. เข้าถึงได้จาก:
http://medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/index.asp
3. เอื้อเฟื้อสูตรการทำน้ำมันไพลจาก รศ.ดร. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์
4. ฐานข้อมูลสมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ไพล [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 4 ก.ค. 60]. เข้าถึงได้จาก: http://medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/index.asp
5. นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพร:ไม้พื้นบ้าน (1). กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชนจำกัด; 2539.
6. คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2559.
7. Laupattarakasem W, Kowsuwon W, Laupattarakasem P, Eungpinitpong W. Efficacy of Zingiber cassumunar Roxb. (Plygesal) in the treatment of ankle sprain. Srinagarind Med J 1993;8(3):159-64. (5)
8. Manimmanakorn N, Manimmanakorn A, Boobphachart D, Thuwakum W, Laupattarakasem W, Hamlin MJ. Effects of Zingiber cassumunar (Plai cream) in the treatment of delayed onset muscle soreness. J Integr Med 2016;14(2):114-20. (6)