sun

หน้าสวยด้วย “ทานาคาของเมียนม่าร์หรือกระแจะของไทย”

อัพเดทล่าสุด 2 months, 1 week ที่แล้ว

สำนักงานข้อมูลสมุนไพร

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

            ในบ้านของสาวชาวเมียนม่าร์จะต้องมีท่อนไม้ทานาคา (Thanakha) วางอยู่ทุกครัวเรือน ทานาคาเป็นเครื่องประทินผิวแบบโบราณที่ยังคงมีศักยภาพในสังคมปัจจุบันและได้พัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องสำอางขายทั้งในประเทศเมียนม่าร์และประเทศใกล้เคียง พวกเธอจะฝนเนื้อไม้ที่มีสีขาวนวลจนถึงเหลืองกับน้ำเล็กน้อยบนแผ่นหินกลมที่มีร่องใกล้ขอบให้น้ำส่วนเกินไหลออกมา จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ใช้ทาผิวหนัง ทำให้ผิวเนียนสวยลดความมันบนใบหน้า แต่ไม่ทำให้ผิวหน้าแห้ง ลดรอยเหี่ยวย่น ป้องกันผิวหน้าจากแสงแดด ป้องกัน และรักษาสิว ฝ้าด้วย (1)

            ต้นทานาคามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hesperethusa crenulata (Roxb.) Roem. และมีชื่อพ้องว่า Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson  เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 3 - 8 ม. วงศ์เดียวกับมะนาว คือ Rutaceae ชื่อไทยคือ กระแจะ ที่จังหวัดราชบุรีเรียกว่า พญายา ทางเหนือเรียก ขะแจะ ตะวันออกเฉียงเหนือเรียก ตุมตัง ชาวมอญเรียก ตะนาว (2) พบในเขตร้อนชื้นของเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยและเมียนม่าร์ ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ที่มี ความสูงจากระดับน้ำทะเล 100 - 400 ม. มีดอกราวเดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคม ผลจะแก่ราวเดือนพฤษภาคม ถึง ตุลาคม (1) ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ปักชำด้วยกิ่งอ่อนหรือรากก็ได้

            ตำรายาไทยใช้กระแจะเป็นยา ใบ แก้ลมบ้าหมู ราก เป็นยาถ่าย ผล เป็นยาบำรุง แก่น ดองเหล้ากินแก้กษัย (การป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม โลหิตจาง ซูบผอม) โลหิตพิการ ดับพิษร้อน ยาพื้นบ้านใช้ ต้น ต้มน้ำดื่ม ครั้งละครึ่งแก้ว วันละ ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น แก้ปวดตามข้อ ปวดเมื่อย เส้นตึง แก้ร้อนใน แก้โรคประดง (อาการโรคผิวหนังมีผื่นคัน เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด คันมาก มักมีไข้ร่วมด้วย) (2)

            จากการวิจัยพบว่ามีสารสำคัญชื่อ marmesin เป็นสารกรองแสงอัลตร้าไวโอเลต (3) แสงอัลตร้าไวโอเลต ก่อให้เกิดการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังโดยกระตุ้นการสังเคราะห์เอนไซม์แมทริกซ์-เมทัลโลโปรตีเนส-1 (matrix-metalloproteinase-1, MMP-1) ซึ่งจะไปตัดเส้นใยโปรตีนคอลลาเจนที่ช่วยคงความแข็งแรงและยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อผิวหนัง และลดการสังเคราะห์โปร-คอลลาเจน พบว่าสารสกัดลำต้นกระแจะสามารถยับยั้งMMP-1 และเพิ่มการสร้างโปร-คอลลาเจน จึงพิสูจน์ภูมิปัญญาที่ชาวเมียนมาร์ใช้ได้ดี (5)

            นอกจากนั้นผงกระแจะและสารสกัดน้ำยังแสดงฤทธิ์ต้านการออกซิเดชั่น ลดการเสื่อมของเซลล์ ต้านการอักเสบ และมีสาร suberosin ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย (4) ช่วยป้องกันและรักษาสิวด้วย

            สาวชาวเมียนมาร์ทำงานตากแดดแต่ผิวสวยใส เพราะพบว่าลำต้นกระแจะที่เก็บจากภาคต่าง ๆ และตัวอย่างที่ซื้อจากชายแดนแม่สอด มีสารอาร์บูติน (Arbutin) 1.711 - 0.268 มคก./ก. (1) สารชนิดนี้มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานินได้ เมลานินเป็นต้นเหตุของฝ้า กระ และรอยหมองคล้ำด่างดำของผิว กระแจะยังมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่กระตุ้นในเกิดเม็ดสีเมลานิน เรียกว่าร่วมด้วยช่วยกันในการออกฤทธิ์ทีเดียว (4)

            ส่วนกลิ่นหอมของกระแจะมาจากสารกลุ่มคูมาลิน (coumarins) 4 ชนิด (6) ที่สำคัญคือไม่มีความเป็นพิษต่อหน่วยพันธุกรรม และความเป็นพิษต่อเซลล์ด้วย (4)

            ขณะนี้มีการพัฒนารูปแบบของทานาคาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนยุคนี้มากขึ้น โดยจะเห็นผลิตภัณฑ์ผงบดละเอียดนำมาใช้ได้เลย ไม่ต้องฝนอย่างแต่ก่อน เป็นครีมก็มี อย่างไรก็ตามทุกสิ่งทุกอย่างมีประโยชน์ต่อคนหนึ่ง อาจทำให้อีกคนหนึ่งแพ้ก็ได้ ก่อนใช้ควรทดลองใช้กับท้องแขนของเราก่อน ถ้าไม่มีอาการผิดปกติจึงใช้กับใบหน้า จะได้สวยใส ปลอดภัย และสบายใจ

 

เอกสารอ้างอิง

1.     Kanlayavattanakul M, Phrutivorapongkul A, Lourith N, Ruangrungsi N. Pharmacognostic specification of Naringi crenulata stem wood. J Health Res 2009;23(2):65-9.

2.     พร้อมจิต ศรลัมพ์ และคณะ, บรรณาธิการ. สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติกรุงเทพฯบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด, 2535.

3.     Joo SH, Lee SC, Kim SK.  UV absorbent, marmesin, from the bark of Thanakha, Hesperethusa crenulata L. J Plant Biol 2004;47(2):163-5.

4.     Wangthong S, Palaga T, Rengpipat S, Wanichwecharungruang SP, Chanchaisak, P. and Heinrich, M. Biological activities and safety of Thanaka (Hesperethusa crenulata) stem bark. J Ethnopharmacol 2010;132(2):466-72. 

5.     Amornnopparattanakul P, Khorana N, Viyoch J. Effects of Hesperethusa crenulata’s bark extract on production of pro-collagen type I and inhibition of MMP-1 in fibroblasts irradiated UVB. International Conference on Biological, Biomedical and Pharmaceutical Sciences (ICCEPS' 2012), Pattaya, 28-29 July, 2012.

6.     Nayar MNS, Bhan MK.  Coumarins and other constituents of Hesperethusa crenulata. Phytochemistry1972;11(11):3331-3.

grass