sun

ผิวขาวด้วยแตงกวา

อัพเดทล่าสุด 2 months, 1 week ที่แล้ว

สำนักงานข้อมูลสมุนไพร
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

        แตงกวา (Cucumis sativus  L.) เป็นไม้เลื้อย ลำต้นเป็นเหลี่ยม มีขนแข็ง มือเกาะไม่แยกแขนง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่มี 35 เหลี่ยมหรือเว้าตื้น ๆ เป็น 35 แฉก ปลายใบแหลม ขอบใบหยักแบบซี่ฟัน โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ดอกเพศผู้และเพศเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุกที่ง่ามใบ กลีบดอกเชื่อมติดกันที่โคนเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็นแฉกแคบ ๆ 5 แฉก ผิวย่นและมีขน สีเหลือง เกสรเพศผู้มี 3 อัน ก้านไม่ติดกัน อับเรณูติดอยู่ด้านนอก ดอกเพศเมีย มีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่มี 3 ช่อง ผลมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันมาก ผลอ่อนมีตุ่มเล็กกระจายทั่วไป สีเขียวอ่อนถึงเขียวเข้ม ผลแก่สีเหลือง หรือสีเหลืองแกมน้ำตาล เมล็ดมีจำนวนมาก รูปไข่หรือรูปรี แบน สีขาว (1)  สรรพคุณตามแผนโบราณ ผล บรรเทาอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง น้ำจากผล ทำให้ผิวชุ่มชื้น (2)

การศึกษาทางคลินิกและการทดลอง  

        มีรายงานการศึกษาทางคลินิกทำให้ผิวขาว โดยเป็นการศึกษาแบบปกปิดฝ่ายเดียว (one-sided blind study) ในผู้ที่มีสุขภาพดีจำนวน 21 คน อายุระหว่าง 21 - 35 ปี  โดยทุกคนจะได้รับครีมทาผิว 2 ชนิด ครีมตัวแรกเป็นครีมเบส  ส่วนครีมชนิดที่ 2 เป็นครีมทาผิวในรูปอิมัลชันที่มีส่วนผสมของสารสกัดไฮโดรอัลกอฮอลิกซ์ของผลแตงกวา 3%  (ตัวอย่างจากประเทศปากีสถาน) โดยให้อาสาสมัครทาครีมแตงกวาที่แก้มด้านหนึ่ง และแก้มอีกด้านหนึ่งให้ทาครีมเบสวันละ ครั้ง นาน 60 วัน และมีการประเมินสภาพผิวทุกสัปดาห์ที่ 1, 2, 3 และ 4  พบว่าครีมแตงกวาสามารถลดปริมาณของเมลานิน ลดความมัน (sebum) ลดความชุ่มชื้น แต่มีผลเพิ่มการสูญเสียน้ำทางผิวหนัง transepidermal water loss (TEWL) เมื่อเทียบกับครีมเบส โดยไม่ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง (3) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในหลอดทดลอง น้ำคั้นผลแตงกวาที่ปลอกเปลือกและเอาเมล็ดออก, ส่วนสกัดน้ำคั้นผลแตงกวาด้วยเอทิลอะซิเตท และเอ็น-บิวทานอล (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย) เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) ในหลอดทดลอง  พบว่าค่าความเข้มข้นที่สามารถต้านเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ร้อยละ 50 (IC50) มีค่าเท่ากับ 40.09, 24.46 และ 99.68 มคก./มล. ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับสาร quercetin ที่มี IC50 เท่ากับ 18.27 มคก./มล. จะเห็นได้ว่าส่วนสกัดน้ำคั้นผลแตงกวาด้วยเอทิลอะซิเตทมีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ดีที่สุด (4)

        สารสำคัญที่สามารถสกัดแยกได้จากสารสกัดเมทานอลของใบแตงกวา ได้แก่  lutein, (+)-(1R,2S,5R,6S)-2,6-di-(4′-hydroxyphenyl)-3,7-dioxabicyclo[3.3.0] octane, (–)-pinoresinol, (+)-pinoresinol และ indole-3-aldehyde เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านการสังเคราะห์สาร melanin ในเซลล์ B16 melanoma cells  พบว่าค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งการสังเคราะห์สาร melanin ได้ร้อยละ50 (IC50) มีค่าเท่ากับ 170.7 ± 16.5, 270.8 ± 37.5, 216.8 ± 32.0, 202.1 ± 26.3 และ 297.9 ± 33.6 ไมโครโมล่าร์ เมื่อเทียบกับสาร arbutin ที่มีค่า IC50 เท่ากับ 234.9 ± 27.9 ไมโครโมล่าร์   จากการศึกษาสรุปได้ว่า สาร lutein และ (–)-pinoresinol ต้านการสังเคราะห์สาร melanin ได้ดีกว่าสาร arbutin (5)

การศึกษาทางพิษวิทยาและความปลอดภัย

         การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน

เมื่อป้อนผลแตงกวาปั่นละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน ขนาด 0.5, 1.0, 1.5, 3.0 และ มล./กก. (ตัวอย่างประเทศไนจีเรีย) ให้กับหนูเม้าส์ พบว่าไม่มีหนูตาย  แสดงว่าค่อนข้างปลอดภัย (6)  เมื่อป้อนสารสกัดน้ำผลแตงกวาให้หนูเม้าส์กิน (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย)  และสังเกตอาการนาน 14 วัน พบว่าขนาดที่ปลอดภัยและไม่เป็นพิษกับหนู คือไม่มีอาการอ่อนเพลีย ชัก หายใจลำบาก มีค่ามากกว่า 5,000 มก./กก. (7)

ข้อควรระวัง

         ผู้ที่มีประวัติแพ้คื่นไฉ่ แครอท และแตงโม ก็อาจจะแพ้แตงกวาได้เช่นกัน (8)

อาการไม่พึงประสงค์

     มีรายงานผู้หญิงอายุ 76 ปี เมื่อรับประทานผลแตงกวา ภายใน 5 นาที มีอาการมึนเวียนศีรษะ อาเจียน หายใจลำบาก มีผื่นแดงที่หน้าอก และคันที่ช่องคลอด เมื่อสืบประวัติย้อนหลังไป 3 เดือน พบว่ามีประวัติแพ้ยางมะละกอ แล้วทำให้เกิดผื่นคล้ายลมพิษ จากข้อมูลทั้งหมดของผู้ป่วยรายนี้สรุปได้ว่าคือการแพ้ยางมะละกอ และแพ้ยางแตงกวา (9

สรุปผล

จากการศึกษาข้อมูลงานวิจัยของแตงกวาจะเห็นได้ว่า แตงกวามีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส ยับยั้งการสังเคราะห์สาร melanin ซึ่งจะมีผลช่วยในเรื่องทำให้ผิวขาว ดังนั้นแตงกวาน่าจะมีศักยภาพในการที่จะนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางในส่วนของทำให้ผิวขาว แต่อย่างไรก็ตามก็มีข้อควรระวังในผู้ที่มีประวัติแพ้คื่นไฉ่ แครอท และแตงโม ก็อาจจะแพ้แตงกวาได้เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

1.     ลีนา ผู้พัฒนพงศ์. สมุนไพรไทย ตอนที่ 3. กรุงเทพฯ: หจก. ฟันนี่พับลิชชิ่ง จำกัด, 2525

2.     นันทวัน บุณยะประภัศรอรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ). สมุนไพร..ไม้พื้นบ้าน (3). กรุงเทพฯ: บริษัท ประชาชน จำกัด; 2542ลีนา ผู้พัฒนพงศ์. สมุนไพรไทย ตอนที่ 3. กรุงเทพฯ: หจก. ฟันนี่พับลิชชิ่ง จำกัด, 2525:289 หน้า.

3.     Akhtar N, Mehmood A, Khan BA, Mahmood T, Muhammad H Khan S et al.  Exploring cucumber extract for skin rejuvenation.  Afr J Biotechnol. 2011;10(7):1206-16.

4.     Garg C, SINGH R, GARG M.  In vitro screening of antioxidant and antiaging potential of Cucumis sativus fruit extract.  Asian J Pharm Clin Res. 2020;13(5):187-90.

5.     Kai H, Baba M, Okuyama T.  Inhibitory effect of Cucumis sativus on melanin production in melanoma B16 cells by downregulation of tyrosinase expression.  Planta Med. 2008;74:1785-8.

6.     Agatemor UM, Nwodo OC, Anosike CA.  Phytochemical and proximate composition of cucumber (Cucumis sativus) fruit from Nsukka, Nigeria.  Afr J Biotechnol. 2017;17(38):1215-9.

7.     Patil MVK, Kandhare AD, Bhise SD.  Pharmacological evaluation of ameliorative effect of aqueous extract of Cucumis sativus L. fruit formulation on wound healing in Wistar rats. Chron Young Sci. 2011;2(4):207-13.

8.     Jordan-Wagner DL, Whisman BA, Goetz DW.  Cross-allergenicity among celery, cucumber, carrot, and watermelon.  Ann Allergy. 1993;71(1):70-9.

9.     Vlaicu PC, Rusu LC, Ledesma A, Vicente M, Cuevas M, Zamorano M. Cucumber anaphylaxis in a latex-sensitized patient.  J Investig Allergol Clin Immunol. 2011;21(3):236-9.

 

 

grass